โฆษณา

STEM Education ด้วย Social Media by kruweerachat

Friday, December 7, 2012

ปฏิรูป ''หลักสูตร-8 กลุ่มสาระฯ'' ถึงเวลา ''เขย่า'' อีกรอบ



คอลัมน์: การศึกษา: ปฏิรูป ''หลักสูตร-8 กลุ่มสาระฯ'' ถึงเวลา ''เขย่า'' อีกรอบ!!
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. - 6 ธ.ค. 2555 

          ต้องยอมรับว่าความพยายามที่จะปฏิรูปการเรียนการสอนมีมาโดยตลอด ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะต่างเห็นตรงกันว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยต่ำจริงๆ ไม่ว่าจะวัดโดยสำนักทดสอบของไทยหรือต่างประเทศ ได้ผลออกมาไม่ต่างกัน นั่นคือ ต่ำกว่าครึ่งและสู้ต่างประเทศไม่ได้!
          หลายต่อหลายรัฐมนตรีจึงพยายามปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นการปรับเล็ก ส่วนการปรับใหญ่อย่างการปฏิรูปหลักสูตร ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายนัก เพราะกว่าจะสำเร็จ ต้องใช้เวลา
          ไหนจะต้องระดมนักวิชาการ ไหนจะต้องสอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ปรับปรุงตำราเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตร ก่อนจะเปลี่ยนหลักสูตรไปทีละชั้นจนครบทุกชั้น
          อย่างการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางครั้งที่แล้วประมาณปี 2551 จะต้องปรับจากชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ก่อน ปีถัดไปจึงใช้หลักสูตรใหม่ในชั้น ป.1 ป.2 ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 และปีที่สามจึงจะครบทุกชั้น
          ฉะนั้น กว่าจะไล่ครบทุกชั้น เนื้อหานอกตำราอาจวิ่งไปไกลแล้ว ดังนั้น การเรียนการสอน จึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถของครูผู้สอนที่ต้องปรับปรุงเนื้อหาให้ สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
          มาถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนล่าสุด นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ก็ขายไอเดียเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรอีกครั้ง
          นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. บอกว่า นายพงศ์เทพ มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ จะต้องปรับปรุงเนื้อหา 8 กลุ่มสาระฯ ด้วย เพราะมีนักวิชาการจำนวนมากสะท้อนว่าเนื้อหาต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับ ประเทศ เช่น วิชาเคมี ม.6 ของไทยกับสิงคโปร์ พบว่าหนังสือของสิงคโปร์ เด็กจะเรียนกว้างและลึกกว่าไทยมาก
          ส่วนการปฏิรูปหลักสูตรฯ ที่ปรึกษาเสมา 1 มองว่าต้องทบทวน เพราะโครงสร้างปัจจุบันกำหนดให้เด็กชั้น ป.1-ม.6 เรียน 8 กลุ่มสาระฯ เหมือนกัน ทั้งที่หลายประเทศไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างบางประเทศระดับชั้น ป.1- 3 ไม่ใส่เนื้อหาสาระมากโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ แต่จะเน้นว่าทำอย่างไรให้เด็กเป็นคนดี เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพพ่อแม่ และเน้นให้มีการศึกษานอกสถานที่ แต่หาก สพฐ. จะใช้ 8 กลุ่มสาระฯ เหมือนเดิม ก็ไม่จำเป็นว่าทุกช่วงชั้นจะเหมือนกันหมด อาจจะเน้นแตกต่างกันและเมื่อเด็กอายุมากขึ้น ก็เน้นสาระความรู้มากยิ่งขึ้น
          นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหามากคือเนื้อหาหลักสูตรในตำราเรียน กระบวนการผลิตตำราเรียนมีการกำหนดเนื้อหาตายตัว เช่น ตำราวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทางสถาบันส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะกำหนด แต่กลุ่มสาระอื่นๆ เปิดเสรีให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ผลิตตำราขึ้นเองโดยยึดวัตถุประสงค์ของแต่ละวิชา
          แต่ปัญหาคือวัตถุประสงค์ไม่ได้กำหนดรายละเอียด ทำให้การผลิตตำราขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ และเมื่อผลิตเสร็จ ค่อยส่งให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ของ สพฐ. พิจารณาอนุมัติ แต่สิ่งที่อนุมัติออกมากลับต่ำกว่ามาตรฐาน
          "ผมได้แจ้งนายพงศ์เทพว่า ควรต้องสังคายนาองค์ความรู้ของแต่ละชั้นใหม่ รวมถึงทบทวนจำนวนชั่วโมงเรียนของแต่ละวันว่าควรต้องลดลงหรือไม่ เพราะปัจจุบันเด็กไทยเรียนเฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง แต่เรื่องนี้ต้องระดมนักวิชาการทั่วประเทศมาช่วยกันทำ ก่อนนำเสนอ สพฐ. และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2556" นายภาวิช กล่าว
          ว่าไปแล้วสอดคล้องกับแนวคิดของ สพฐ. อยู่เหมือนกัน เพราะไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของ สพฐ. ครั้งนั้นสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบโครงสร้างเวลาเรียนของประเทศไทยกับ ประเทศต่างๆ ในโซนเอเชีย โซนยุโรป และโซนอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี และประเทศนิวซีแลนด์ ได้ข้อมูลว่าประเทศไทยจัดโครงสร้างเวลาเรียนตามช่วงชั้นแบบคงที่
          ขณะที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จะมุ่งเน้นให้เด็ก ป.1 และ ป.2 ทุ่มเทเวลาพัฒนาการด้านภาษาเป็นหลัก หรือมากกว่าประเทศไทย
          ทั้งพบว่าประเทศต่างๆ มีจุดเน้นการพัฒนาด้านภาษาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ประถมศึกษาตอนต้น ควบคู่กับวิชาวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับ ป.1-ป.6 ก่อนไปเน้นวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย
          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ สพฐ. เตรียมนำมาวิเคราะห์และอาจพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียน แต่ทั้งนี้ จะต้องศึกษาวิจัยภาพรวมให้เกิดความชัดเจนในทุกแง่มุมก่อน
          ไม่ต่างจากนักวิชาการและผู้บริหารสถานศึกษาที่ออกมาขานรับเรื่องนี้ อย่าง นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) มองว่า ควรต้องปรับปรุงหลักสูตร เพราะหลักสูตรปัจจุบันยังไม่สะท้อนเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่ชัดเจน เหมือนให้เด็กเรียนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ฉายภาพว่าเมื่อเรียนจบแต่ละระดับแล้ว จะได้เด็กที่มีคุณลักษณะอย่างไร ขณะเดียวกัน ยังเน้นวิชาการมากเกินไป และทำให้เด็กแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สะท้อนความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบที่มีต่อสังคม
          ส่วน นายชลอ  เขียวฉลัว ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ระบุว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงหลักสูตร เพราะปัจจุบันเด็กเรียนเยอะ และส่วนใหญ่เรียนเพื่อมุ่งสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่หลักสูตรปัจจุบันไม่สอดคล้อง ทำให้เด็กแห่ไปกวดวิชา
          ส่วนการลดชั่วโมงเรียนนั้น ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามลดชั่วโมงเรียนและเพิ่มชั่วโมงกิจกรรม แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเน้นวิชาการ เพราะเด็กต้องไปสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ซึ่งโรงเรียนจะปล่อยให้เด็กเรียนอ่อนไม่ได้ และผู้ปกครองก็ยินดีให้โรงเรียนอัดเนื้อหาเข้าไปเยอะๆ
          เรื่องปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหา 8 กลุ่มสาระฯ ไม่มีใครคัดค้าน เพราะต่างเห็นปัญหาตรงกัน เพียงแต่ว่าการจะแก้ไขให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลานาน ซึ่งบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีอยู่
          ฉะนั้น น่าหวั่นว่าการปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้ จะย้อนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ หรือไม่ ที่ท้ายสุด...ยิ่งปฏิรูป การศึกษาก็ยิ่งถอยหลัง แถมยิ่งเพิ่มภาระให้แก่สถานศึกษาและครูอีกด้วย
          เอาใจช่วยให้การปฏิรูปหลักสูตรสำเร็จตลอดรอดฝั่ง...อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเลย

ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. - 6 ธ.ค. 2555 





บทความวิเคราะห์ข่าว

การปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหา 8 กลุ่มสาระฯ ปกติจะต้องปรับจากชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ก่อน ปีถัดไปจึงใช้หลักสูตรใหม่ในชั้น ป.1 ป.2 ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 และปีที่สามจึงจะครบทุกชั้น ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตรนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรแต่สภาพแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆที่มีผลต่อการศึกษาทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการศึกษาทั้งสิ้น ซึ่งสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหากลุ่มสาระนั้น หลายๆฝ่ายเห็นด้วยที่จะควรให้มีการเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งที่ผ่านมามีทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น หลักสูตรแกนกลาง 2551 ปรับปรุงจาก หลักสูตรการศึกษา 2544 ซึ่งทำโดยนำจุดด้อยของหลักสูตรเดิมมาพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและมีความชัดเจนเหมาะสมกับการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์ในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆได้ผ่านการทดสอบและใช้งานโดยเริ่มจากโรงเรียนแกนนำเป็นโรงเรียนนำร่องก่อน แต่ประเด็นสำคัญในการปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหา 8 กลุ่มสาระฯ นั้นสำหรับหลักสูตรผมวิเคราะห์ว่า หลักสูตรแกนกลาง 2551 นั้นมีความยืดหยุ่นมากพอสมควรแต่ปัญหาของหลักสูตรนี้น่าจะอยู่ที่การวัดผลมากกว่า ซึ่งหากแต่ละที่ออกแบบหลักสูตรที่มีความแตกต่างกันโดยอ้างอิงจากหลักสูตรแกนกลาง 2551 นั้น มาตรฐานและตัวชี้วัด ตัวเดียวกัน แต่แนวทางในการวัดผลนั้นแตกต่างกัน ซึ่งหากใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศวัดนักเรียนที่เรียนจากหลักสูตรสถานศึกษาที่แต่ละโรงเรียนออกแบบเองเพื่อให้สอดคล้องกับสถาพการเรียนการสอน ท้องถิ่นและทรัพยากรที่มีนั้น อาจให้ผลที่แตกต่างกัน การปรับปรุงหลักสูตรจึงต้องใช้ครูที่มีทักษะความชำนาญหรือพัฒนาครูผู้สอนให้มีความเข้าใจแตกฉานในการเรื่องของการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และการวัดผล เพื่อให้สามารถสื่อสารหลักสูตรให้ผู้เรียนได้ตามวัตถุประสงค์และสามารถวัดและประเมินผลได้อย่างถูกต้องมีความแม่นยำ  ส่วนการปรับปรุงกลุ่มสาระ 8  กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นปัจจุบันผมวิเคราะห์ความสอดคล้องบางกลุ่มซึ่งน่าจะจัดใหม่เช่น  กลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา กับกลุ่มวิทยาศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาการเรียนการสอนสุขศึกษาบางส่วนคล้ายคลึงกันกับการเรียนการสอนของวิทยาศาสตร์  ซึ่งน่าจะนำสาระการเรียนรู้ทั้งสองมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันหรือรวมเนื้อหาบางเรื่องเข้าด้วยกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการเรียนการสอน กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ น่าจะถูกแยกออกมาไว้เป็นกลุ่มสาระของคอมพิวเตอร์หรือรวมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย โดยส่วนมาก วิทยาการคอมพิวเตอร์จะรวมอยู่กับคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งกลุ่มสาระกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ผมเข้าใจว่า แต่ก่อนเครื่องพิมพ์ดีดอยู่กับสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานอาชีพ จึงทำให้วิชาการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์จัดอยู่ในกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี  แต่ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เป็นมากกว่าเครื่องพิมพ์ดีดซึ่งน่าจะมีการจัดการกลุ่มสาระการเรียนรู้นี้ใหม่ เช่น แยกออกเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ของตนเป็นเอกเทศ หรือ น่าจะรวมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกันมากกว่า ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ก็มีความแตกต่างกันระหว่างประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และรายวิชาเศรษฐศาสตร์  ซึ่งต่างก็มีรายละเอียดวิชาแตกต่างกัน ซึ่งน่าจะนำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มกันใหม่ รวมถึง หลังจากการแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแล้ว  ก็ยังคงใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แบบเดิม ซึ่งยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างระหว่าง ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
อีกส่วนหนึ่งควรจะมีเกณฑ์ที่ใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับการปรับปรุงหลักสูตรและกลุ่มสาระเพื่อแก้ปัญหานักเรียนมุ่งหน้าเข้าโรงเรียนกวดวิชาเพื่อให้สามารถสอบเข้าระดับอุดมศึกษาที่ตนเองต้องการ ซึ่งต้องแข่งขันกันทางด้านวิชาการเพื่อทำคะแนนให้สูงในการสอบ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งในการจัดการศึกษาซึ่งหากการศึกษา หรืออาจต้องทำสื่อในรูปแบบที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เองตามที่นักเรียนสนใจและมีราคมถูกเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ทั่วถึง
สุดท้ายนี้ขอสรุปว่า การศึกษาไม่ได้หยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงและต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ หากเรียนแล้วไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือประกอบอาชีพได้นั้นการเรียนการสอนที่ทำอยู่คงไม่มีประโยชน์หรือไม่จำเป็นต้องเรียนเลยก็ได้ ดังนั้น การปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหา 8 กลุ่มสาระฯ เพื่อการเรียนการสอนในยุคทศวรรษที่ 21 ควรจะเป็นการเรียนเพื่อใช้ในชีวิตจริง  เรียนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน



                                                                                                                                       นายวีรชาติ มาตรหลุบเลา

No comments:

Post a Comment

like