กระบวนทัศน์ใหม่ด้านการศึกษา&การทำงานของอเมริกัน
กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเจอกับนักเรียนไทยคนหนึ่ง คือ คุณเพชร วรรณิสสร ซึ่งเพิ่งจบศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (CMU)ในสาขาการจัดการด้านซอฟท์แวร์ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาเปิดสาขา(campus) อยู่ที่ Moffett Field เมือง Mountain View เขตซิลิคอนวัลเลย์ ทั้งบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA อีกด้วย
ก่อนหน้านั้น คุณเพชรยังจบปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ด้วยอีกใบหนึ่ง ขณะที่ก่อนหน้านั้นอีก เขาได้ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์ ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รวมระยะเวลาของการอยู่ในอเมริกาประมาณ 7 ปี
จากการได้คุยกับนักศึกษาไทยอย่างคุณเพชร ทำให้ทราบเรื่องราวอย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่ๆครับ
เรื่องแรก คือ เรื่องระบบการศึกษา หรือพูดให้เป็นภาษาทางการหน่อยจะได้ว่า “กระบวนทัศน์ ทางด้านการศึกษาของอเมริกัน” หมายถึง ระบบการศึกษาของอเมริกัน ที่กำลังเป็นอยู่และแนวโน้มที่ จะเป็นในอนาคต คุณเพชรได้ฉายเห็นว่าในฐานะของรุ่นใหม่เขามองหรือมีทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างไร
เรื่องที่สอง คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม การสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีของอเมริกันว่า วิธีการคิดในการทำงานตามแบบอย่างวัฒนธรรมใหม่ของคนในซิลคอนวัลย์เป็นอย่างไร
ทั้ง 2 เรื่องทำให้ผมหวนนึกไปถึงคำพูดของ อดัม เคิล เรื่อง “การศึกษาเพื่อความเป็นอัตลักษณ์” เขาบอกว่า การศึกษาที่ดีไม่ควรไปรับใช้ระบบ แต่ต้องเพื่อบ่มเพาะจิตใจละสติปัญญาของมนุษย์ ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ และให้มนุษย์เป็นอิสระชน แนวโน้ม(Trend) ของการศึกษาและการทำงานในอเมริกากำลังเดินทาง ไปสู่เป้าหมายตามที่ อดัม เคิล ว่าไว้หรือไม่?
ผมจะประเมินบางส่วนของเรื่องนี้จากคุณเพชร ซึ่งกำลังเดินเข้าไปทำงานยังบริษัททวิตเตอร์ในเขตซานฟรานซิสโก
ตอนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างผมกับคุณเพชร คุณเพชรมีความเห็นในเรื่องการศึกษาของอเมริกันอย่างนี้ครับว่า
ตอนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างผมกับคุณเพชร คุณเพชรมีความเห็นในเรื่องการศึกษาของอเมริกันอย่างนี้ครับว่า
“ระบบการเรียนการสอนของอเมริกันเน้นการเรียนรู้เป็นหลัก โดยดูจากสัมฤทธิผลของการเรียน (performance) เน้นการทำงานมากกว่าการสอบ มีการทำโปรเจคท์มากกว่าการเรียนในห้องเรียน คืออาจารย์ผู้สอนจะไม่มีการชี้นิ้วว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ให้เราต้องทำด้วยตัวเองเป็นหลัก เราต้องเป็นผู้นำของตัวเองโปรเจคท์จะมีการกำหนดเดทไลน์มาให้ แล้วก็จะเน้นความซื่อสัตย์อย่างมาก จากความเชื่อที่ว่า นักศึกษาจะไม่โกง ทำให้เรารู้จักซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เป็นการปล่อยให้เราทำอะไรอย่าง อิสระ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ”
เมื่อถามถึงการให้ผู้เรียนเป็นผู้นำตัวเอง
“คอร์สการเรียนของที่นี่ เน้นการเรียนรู้ ให้นักศึกษากำหนดมาเลยว่า ต้องการทำโครงการ(project) อะไร และไม่จำเป็นว่า โปรเจคท์ต้องเหมือนกับคนอื่น แล้วกลับมาบอกอาจารย์ว่าต้องการศึกษาเรื่องอะไร เกิดปัญหาอะไรขึ้น เมื่อมีปัญหาอาจารย์กับนักศึกษาก็จะช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีที่ถูกต้องในการแก้ไข ปัญหาไม่ได้มีวิธีเดียวแต่ อาจมีหลายวิธีก็ต้องเอามาถกกันในชั้นเรียน วิธีการแก้ปัญหาต่างกันแต่ได้ผลลัพธ์ เหมือนกันก็ไม่เป็นไร การลองผิดลองถูกเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนที่นี่”
คุณเพชรเล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ซิลิคอนวัลเลย์ (ซึ่งคงคล้ายกันในแทบ ทุกสถาบันการศึกษาในอเมริกา)ว่า อาจารย์อเมริกันจะไม่สอนแบบการถ่ายทอดความรู้ฝ่ายเดียว แต่จะมีบรรยากาศของการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ยกเว้นการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งอาจารย์มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาบ้าง(lecture) แต่ในชั้นเรียนดังกล่าวก็มีการ ซักถามอาจารย์ผู้สอนจากผู้เรียนอย่างมาก
“นักศึกษาสามารถยกมือท้วงติงอาจารย์ได้หากเห็นว่า อาจารย์นำเสนอความรู้ไม่ถูกต้อง โดยการการแสดงเหตุผลว่า ทำไมถึงแย้งอาจารย์ อาจารย์ก็ต้องหยุดฟังว่าผู้เรียนแย้งว่าอย่างไร มีเหตุผลการแย้งเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น การเรียนการสอนที่นี่ อาจารย์จึงไม่ใช่เป็นผู้พูดเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ผู้เรียนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามได้ตลอดเวลา”
เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเรียนการสอนของเมืองไทยในปัจจุบันแล้ว คุณเพชรบอกว่า การเรียนการสอนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยของไทยเหมือน “ผู้ใหญ่สอนเด็ก” ไม่ค่อยเปิดโอกาสผู้เรียนคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ หากควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดโครงการ(project) ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ให้อิสระกับตัวผู้เรียน และทุกโครงการไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ปัญหาของการศึกษา ไทยอย่างหนึ่ง คือ เราต้องการให้มีผลผลิตออกมาเหมือนกัน(ผลิตซ้ำ) แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น
ความรู้ในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นผู้สอนจึง ควรฝึกผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ให้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าความรู้เป็นไปในลักษณะ “ความรู้เก่ายังอยู่ แต่ความรู้ใหม่มาอีกแล้ว” ยิ่งความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ด้วยแล้ว นับว่าวิ่งเร็วมาก เราต้องตามให้ทันและเรียนรู้นวัตกรรมและต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่าง Base on Technology อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารในสังคมปัจจุบัน
ในความเป็นซิลิคอนวัลเลย์นั้น เนื้อหาสาระของศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศเวลานี้ คนรุ่นใหม่อย่างคุณเพชรบอกว่า ผู้คนในซิลิคอนวัลย์กำลังอยู่ในช่วงของการให้ความสนใจและพัฒนานวัตกรรมเชิงข้อมูล 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง คือ โซเชียลมีเดีย(social media) ประเภทที่สอง คือ ระบบอุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile) และประเภทที่สาม คือ ระบบข้อมูลขนาดใหญ่(Huge data) โดยเฉพาะในประเภทที่สาม นับว่ามีความน่าสนใจมาก เพราะหมายถึงการการจัดการเชิงข้อมูลในระดับต่างๆ จากระดับท้องถิ่นระดับสากล ซึ่งตอนนี้อเมริกันเป็นฝ่ายดูแลและจัดการข้อมูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก
ส่วนแนวโน้ม(Trend) หรือกระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ คุณเพชรมองว่า ขณะนี้กระแสความต้องการทำงานของผู้คนแถวซิลิคอนวัลเลย์ พวกเขาต้องการทำงานอย่างเป็นอิสระมากขึ้น คือ ไม่ต้องการไปทำงานโดยขึ้นอยู่กับบริษัทใหญ่ แต่ต้องการทำโปรเจคท์เองตนหรือกลุ่มของตน เช่น จะมีการรวมกลุ่มกันประมาณ 2-3 คน คิดและทำโครงการและหางบทำโครงการเอง
“ปัญหาของซิลิคอนวัลเลย์ส่วนหนึ่งในขณะนี้ก็คือ มีคนคิดโครงการได้หลายโครงการ แต่บุคลากรด้านนี้มีไม่เพียงพอกับความต้องการ(ที่จะเข้าไปทำโครงการ)”
นักเรียนไทยซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจาก CMU บอกว่า ตอนนี้หากเปรียบเทียบกระบวนทัศน์ด้านการศึกษาและด้านเทคโนโลยีระหว่างอเมริกากับไทย คงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ที่สำคัญคือ คนไทยจะต้องพัฒนาวิธีการคิด ขยายกรอบการมองออกไปเลยจากการใช้ตัวเองเป็นฐาน ไปสู่การมองที่ เป็นประโยชน์ร่วมในเชิงสากล เพราะแนวโน้มการทำงานของมนุษย์ในอนาคต จะมีการแยกตัวออกมาเป็น หน่วยย่อยมากกว่าที่จะทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมักปิดโอกาสสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
“ลักษณะที่สำคัญของอเมริกัน พวกเขาชอบคิดใหญ่ ไม่ชอบคิดเล็ก แต่คนไทยตรงกันข้าม ชอบคิดเล็ก วัฒนธรรมอเมริกันเวลาคิด คิดแบบไม่กลัวความล้มเหลว แต่คนไทยพะวงกับความล้มเหลว จึงไม่กล้าคิดใหญ่แบบเอาตัวเองเป็นเดิมพัน”
คุณเพชรเล่าว่า การคิดสร้างสรรค์งานประเภทโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เวลาคิด เขาคิดใหญ่ระดับโลกทำให้คนใช้ทั่วโลก ซึ่งวัฒนธรรมการคิดแบบนี้คนไทยไม่มี คนอเมริกันเวลาคิด เขาคิดเพื่อให้เป็นผลงานที่ใหญ่เข้าไว้เผื่อคนรุ่นหลัง(legacy) ทำอย่างไรทำให้คนอื่นได้ใช้ด้วย แต่ของคนไทยเราคิดเพียงแค่การใช้เฉพาะหน้า เฉพาะตนและกลุ่มของตนเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ยังหวาดหวั่นในเรื่องความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน และเงินเดือน จึงไม่มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในระดับโลกได้”
กระบวนทัศน์ของคนอเมริกัน ในซิลิคอนวัลเลย์ หรือแม้แต่อีกหลายที่ในอเมริกา ก้าวไปถึงขั้นที่ว่า การคิดนวัตกรรมต่างๆนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องเงินหรือธุรกิจอันดับแรก แต่เขาคิดบนฐานความมีประโยชน์ (contribute)ต่อโลก เน้นไปที่ความพอใจ(passion) ในประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ส่วนเงินหรือผลได้ทางธุรกิจจะเป็นเรื่องที่ตามมาภายหลัง ขณะที่คนไทยคิดตรงกันข้ามมักมองแค่เรื่องราวและหน้าที่เฉพาะในกรอบของตัวเอง มองหาช่องทางเป็นลูกจ้างและงานเงินเดือน
“คนไทยติดเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมากไป ต่างจากคนอเมริกันที่มองการใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ผู้บริโภคเทคโนโลยีอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีความพยายามเพื่อครอบครองเทคโนโลยีใหม่แบบไล่ล่าหรือเพื่อโชว์ว่าตัวเองนำสมัย แต่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานและการติดต่อสื่อสารตามความจำเป็นเท่านั้น”
คุณเพชร –คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์ผู้คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ครับ
No comments:
Post a Comment